วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

รูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง



รูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง : (CIPPA Model)
ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
                ทิศนา แขมมณี (2543) รองศาสตราจารย์ ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนารูปแบบนี้ขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ใช้แนวคิดทางการศึกษาต่างๆ ในการสอนมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี และพบว่าแนวคิดจำนวนหนึ่งสามารถใช้ได้ผลดีตลอดมา แนวคิดเหล่านั้นเมื่อนำมาประสานกัน ทำให้เกิดเป็นแบบแผนขึ้น แนวคิดดังกล่าว ได้แก่ (1) แนวคิดการสร้างความรู้(2)แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้แบบร่วมมือ (3) แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้(4) แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการ และ (5) แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้  แนวคิดทั้ง 5 เป็นที่มาของแนวคิด "CIPPA" ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงสุด โดยการให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง (C = Construction of knowledge) และมีการปฏิสัมพันธ์ ( I = Interaction) กับเพื่อนบุคคลอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวหลายด้านโดยใช้ทักษะกระบวนการ (P = Process skills) ต่างๆ จำนวนมากในการสร้างความรู้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการและเรียนรู้สาระในแง่มุมที่ กว้างขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากผู้เรียนอยู่ใน
สภาพความพร้อมในการรับรู้และการเรียนรู้ มีประสาทการรับรู้ที่ตื่นตัว ไม่เฉื่อยชา และสิ่งที่สามารถทำให้ผู้เรียนอยู่ในสภาพดังกล่าวได้ก็คือ การให้ผู้เรียนมีการเคลื่อนไหวทางกาย (P = Physicparticipation) อย่างเหมาะสม กิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนตื่นตัวอยู่เสมอ จึงสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้แต่เรียนรู้นั้นจะมีความหมายต่อ ตนเองและความเข้าใจ จะมีความลึกซึ้งและคงทนอยู่มากเพียงใดนั้นต้อง อาศัยการถ่ายโอนการเรียนรู้ หากผู้เรียนมีการนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ (A = Application ) ในสถานการณ์ที่หลากหลายความรู้นั้นก็จะเป็นประโยชน์และมีความหมายมากขึ้น ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงเกิดแบบแผน "CIPPA" ขึ้น ซึ่งผู้สอนสามารถนำแนวคิดทั้ง 5 ดังกล่าวไปใช้ในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้มีคุณภาพได้
วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
                รูปแบบนี้ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างแท้จริง โดยการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยความร่วมมือจากกลุ่ม นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่ม กระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และกระบวนการแสวงหาความรู้ เป็นต้น
หลักการของรูปแบบของโมเดลซิปปา
                จากแนวคิดสำหรับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทิศนา แขมมณี (2542)
ได้สรุปซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “CIPPA” ดังนี้
                C มาจากคำว่า Construct ซึ่งหมายถึง การสร้างความรู้ตามแนวคิดของ Constructivismกล่าวคือ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี ควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเองซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเอง การที่ผู้เรียนมีโอกาสได้สร้างความรู้ด้วยตนเองนี้ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
                I มาจากคำว่า Interaction ซึ่งหมายถึง การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคล และแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม
                P มาจากคำว่า Physical Participation ซึ่งหมายถึง ให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยทำกิจกรรมในลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางกาย
                P มาจากคำว่า Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหากระบวนการกลุ่ม กระบวนการพัฒนาตนเอง เป็นต้น การเรียนรู้กระบวนการเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกับการเรียนรู้ เนื้อหาสาระต่างๆ การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านสติปัญญาอีกทางหนึ่ง
                A มาจากคำว่า Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียน และช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับรูปแบบของซิปปา
                ขั้นตอน กระบวนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักการของซิปปา ประกอบด้วยขั้นต่าง ๆ ในการจัดการเรียนรู้ ดังนี้ (ทิศนา แขมณี , 2542)
                1. ขั้นนำ สร้างหรือกระตุ้นความสนใจ
                2. ขั้นสอน จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ โดยกิจกรรมที่จัดควรมีคุณสมบัติดังนี้
                                1) ช่วยให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง
                                2) ช่วยให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ ช่วยการเรียนรู้
                                3) ช่วยให้ผู้เรียนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ด้วยตนอง
                                4) ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการควบคู่ไปกับผลงาน
                                5) ช่วยให้ผู้เรียนได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้
                3. ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลจากกิจกรรม
                                1) วิเคราะห์ อภิปราย ผลงาน / ข้อความรู้ที่สรุปได้จากกิจกรรม
                                2) วิเคราะห์ อภิปรายกระบวนการเรียนรู้
                4. ขั้นสรุปและประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

                จากขั้นตอนการเรียนรู้ทั้ง 4 สามารถเขียนเป็นขั้นตอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนได้ดังนี้ (ทิศนา แขมณี , 2542)
                                1) ขั้นการทบทวนความรู้เดิม ขั้นนี้เป็นการดึงดูดความรู้ของผู้เรียนในเรื่องที่เรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตนเอง
                                2) ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ ขั้นนี้เป็นการแสวงหาข้อมูล ความรู้ใหม่ที่ผู้เรียนยังไม่มีจากแหล่งข้อมูลหรหรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ ซึ่งครูอาจเตรียมมาให้ผู้เรียนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาก็ได้
                                3) ขั้นการศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูล/ ความรู้ใหม่และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม ขั้นนี้เป็นเป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องศึกษา และทำความเข้าใจกับข้อมูล/ความรู้ที่หามาได้ผู้เรียนต้องสร้างความหมายของข้อมูล/ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ ด้วยตนเองเช่น ใช้กระบวนการคิดและกระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยเชื่อมโยงกับความรู้เดิม
                                4 ) ขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนเอง รวมทั้งเป็นการขยายความรู้ความเข้าใจของตนเองให้ กว้างขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนแก่ผู้อื่น และได้รับประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน
                                5 ) ขั้นการสรุปและการจัดระเบียบความรู้ เป็นการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมดจาก การทำกิจกรรม ทั้งความรู้เดิม และความรู้ใหม่ ควรจัดสิ่งที่เรียนรู้ให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อช่วยให้นักเรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
                                6) ขั้นการแสดงผลงาน ขั้นนี้เป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดผลงานแสดงความรู้ของตนให้กับผู้อื่นได้รับรู้ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตน และยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
                                7) ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นขั้นตอนการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจความสามารถในการแก้ปัญหา และความจำในเรื่องนั้นๆ
บทบาทของครูและผู้เรียนในการจัดการเรียนการสอนตามโมเดลซิปปา (อัมพา บุ่ยศิริรักษ์(2542)
                1. การเตรียมการสอน
1.1 ศึกษาและวิเคราะห์เรื่องที่จะสอนให้เข้าใจ
1.2 ศึกษาแหล่งความรู้ที่หลากหลาย
1.3 วางแผนการสอน
1.3.1 กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
1.3.2 วิเคราะห์เนื้อหาและความคิดรวบยอด และกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน
1.3.3 ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามหลักซิปปาหรืออื่นๆ
1.3.4 กำหนดวิธีการประเมินผลการเรียนรู้
1.4 จัดเตรียม
1.4.1 สื่อ วัสดุ การเรียนการสอน ให้เพียงพอสำหรับผู้เรียน
1.4.2 เอกสาร หนังสือ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน
1.4.3 ติดต่อแหล่งความรู้ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคล สถานที่ หรือโสตทัศน์วัสดุต่าง ๆ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
1.4.4 เครื่องมือการประเมินผลการเรียนรู้
1.4.5 ห้องเรียนหรือสถานที่เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น อาจจำเป็นต้อง
จัดโต๊ะ เก้าอี้ ในลักษณะใหม่
                2. การสอน
2.1 สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
2.2 กระตุ้นผู้เรียนให้สนใจในการร่วมกิจกรรม
2.3 จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนที่ได้เตรียมไว้ โดยอาจมีการปรับแผนให้เหมาะกับผู้เรียนและสถานการณ์ที่เป็นจริง
2.3.1 ดูแลให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
2.3.2 อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้
2.3.3 กระตุ้นผู้เรียนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างเต็มที่
2.3.4 สังเกต และบันทึกพฤติกรรม และกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมทั้ง
เหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นขณะทำกิจกรรม
2.3.5 ให้คำแนะนำ และข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้เรียนตามความจำเป็น
2.3.6 บันทึกปัญหา และข้อขัดข้องต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อการปรับปรุงกิจกรรมให้ดีขึ้น
2.3.7 ให้การเสริมแรงผู้เรียนตามความเหมาะสม
2.3.8 ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานการเรียนรู้ของผู้เรียน และอาจให้ข้อมูล
เนื้อหาความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้เรียนตามความเหมาะสม
2.3.9 ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนเกี่ยวกับพฤติกรรม และกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและให้ข้อเสนอแนะตามความเหมาะสม
 ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบซิปปาโมเดล
                ผู้เรียนจะเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียน สามารถอธิบาย ชี้แจง ตอบคำถามได้ดี นอกจากนั้นยังได้พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นกลุ่ม การสื่อสาร รวมทั้งเกิดความ ใฝ่รู้ด้วยจะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนตามรูปแบบโมเดลซิปปานั้นนอกจากจะเป็นรูปแบบการจัด การเรียนการสอนที่ช่วยให้นักเรียนพัฒนาได้อย่างเต็มตามศักยภาพแล้วยังสามารถนำไปใช้เป็นตัวชี้วัด หรือเป็นเครื่องตรวจสอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ว่ากิจกรรมนั้นเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือไม่ โดยนำเอากิจกรรมในแผนการสอนมาตรวจสอบตามหลักการของCIPPAด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบซิปปาโมเดลนี้ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ โดยในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาโมเดลในด้านการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยยึดหลักการของซิปปา และพัฒนาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และบริบทของนักเรียนให้มากที่สุด ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบไปด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นการตรวจสอบความรู้เดิม    2. ขั้นการสร้างความรู้ใหม่จากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม     3. ขั้นการแสดงผลงาน      4. ขั้นการแลกเปลี่ยนและตรวจสอบความรู้     5. ขั้นการสรุปและจัดระเบียบความรู้     6. ขั้นการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง       7. ขั้นการฝึกทักษะ
ในขั้นตอนทั้ง 7 นี้ ก็จะสอดคล้องตามหลักการของซิปปา (CIPPA) ดังนี้
                C (Construct) สอดคล้องกับขั้นการสร้างความรู้ใหม่จากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมขั้นการแสดงผลงาน ขั้นการแลกเปลี่ยนและตรวจสอบความรู้ ขั้นการสรุปและจัดระเบียบความรู้ขั้นการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงและขั้นการฝึกทักษะ
                I (Interaction) สอดคล้องกับทุกขั้นตอนเพราะนักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันทั้งระหว่างผู้เรียนเองและผู้เรียนต่อครูผู้สอน
                P (Physical Participation) สอดคล้องกับขั้นการสร้างความรู้ใหม่จากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม ขั้นการแสดงผลงาน ขั้นการแลกเปลี่ยนและตรวจสอบความรู้ ขั้นการสรุปและจัดระเบียบความรู้ ขั้นการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงและขั้นการฝึกทักษะ
                P (Process Learning) สอดคล้องกับทุกขั้นตอน เพราะในทุกขั้นตอนมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ เช่น กระบวนการกลุ่ม กระบวนการคิดและกระบวนการแก้ปัญหา
                A (Application) สอดคล้องกับขั้นการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงและขั้นการฝึกทักษะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น